8/24/07

กลยุทธ์พัฒนาสินค้าเทคโนโลยี-นวัตกรรม

เรามักจะได้ยินเสมอว่าวิธีที่ เอสเอ็มอี จะพัฒนาธุรกิจให้ขยายตัวออกไปได้อย่างมั่นคงก็คือ การสร้างนวัตกรรม หรือ การสร้างความแปลกใหม่ให้กับสินค้าหรือกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ
และส่วนประกอบหนึ่งของการสร้างความแปลกใหม่ ก็หนีไม่พ้นการสร้างหรือแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านต่างๆ มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับกิจการ
โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการพัฒนาสินค้าใหม่หรือการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์เข้ากับตัวสินค้า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการดำเนินการและวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้เอสเอ็มอีสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะความผิดพลาดในการออกสินค้าใหม่หรือการนำสินค้าใหม่สู่ตลาด อาจสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้กับกิจการได้อย่างรุนแรง
โดยเฉพาะสินค้าใหม่ที่ต้องใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องมีการลงทุนสูง
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับเอสเอ็มอีที่ต้องการมุ่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ไม่น้อย และทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนวัตกรรม ก็ย่อมจะเล็งผลเลิศและมุ่งประสงค์ที่จะนำธุรกิจใหม่นั้นไปสู่ความสำเร็จเชิงธุรกิจ
ไม่ได้ต้องการที่จะกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อความ “มัน” หรือ ความต้องการที่จะพิสูจน์ฝีมือหรือความรู้ทางเทคนิคของตนเพียงอย่างเดียว
เพื่อให้เอสเอ็มอีที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจนวัตกรรม สามารถดำเนินการไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้ เอสเอ็มอีนวัตกรรม เถ้าแก่นักประดิษฐ์ หรือ เถ้าแก่ไฮเทค ทั้งหลาย ซึ่งปัจจุบันได้รับการเอ่ยถึงในนามของ Technopreneur ซึ่งมาจากคำว่า Technology (เทคโนโลยี) + Entrepreneur (ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจ)
Technopreneur ควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนหรือกลยุทธ์ในกระบวนการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีหรือสินค้านวัตกรรม ซึ่งจะมีขั้นตอนต่างๆ เป็นลำดับ คือ
1. การมองเห็นโอกาสทางการตลาดสำหรับความต้องการสินค้าใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่
2. การกลั่นกรองหรือคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ
3. การวิเคราะห์หรือประมาณการคร่าวๆ เกี่ยวกับความต้องการของตลาดและความเป็นไปได้ของผลตอบแทนเชิงธุรกิจ
4. การวิเคราะห์เบื้องต้นทางการเงินและแหล่งสนับสนุนทางการเงิน
5. การออกแบบหรือลงรายละเอียดในด้านความเป็นไปได้ทางเทคนิค
6. การจัดเตรียมความพร้อมและโครงสร้างสนับสนุนในการสร้างสินค้าหรือเทคโนโลยี
7. การสร้างสินค้าหรือเทคโนโลยีต้นแบบ
8. การทดสอบสินค้าหรือเทคโนโลยีภายในโรงงาน
9. การทดสอบสินค้าในสภาพใช้งานจริงในตลาดตัวอย่าง
10. การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อเปิดตัวสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ
11. การเริ่มต้นปฏิบัติตามแผนธุรกิจที่จัดทำไว้
ขั้นตอนสำคัญเริ่มแรกที่สุดก็คือ การมองเห็นโอกาสหรือการค้นพบโอกาสทางธุรกิจที่จะเป็นที่มาของแรงผลักดันหรือเกิดความคิดที่จะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา
มีผู้รวบรวมวิธีการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจไว้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้
การค้นพบหรือการทดลองที่ได้รับความสำเร็จโดยไม่คาดคิดหรือโดยบังเอิญ
การทดลองหรือประสบการณ์ที่ล้มเหลว ไม่ได้ผลตามต้องการ แต่กลายเป็นการค้นพบสิ่งใหม่
เหตุการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นหรือไปพบเห็นมาโดยไม่คาดฝัน
สภาวะของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความแตกต่างที่เป็นโอกาส
การสังเกตช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างผลที่เกิดขึ้นจากการทดลองที่คิดไว้กับผลที่เกิดขึ้นจริงเมื่อทดลองทำไปแล้ว
ช่องว่างหรือความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการที่คิดว่าตลาดหรือผู้บริโภคจะยอมรับกับข้อเท็จจริงหรือการสนองตอบจริงของตลาดหรือผู้บริโภค
ผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานหรือกระบวนการที่ตั้งใจไว้ แต่ได้ผลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง
การพัฒนาวิธีการทำงานเพื่อลดความผิดพลาดหรือเพิ่มประสิทธิภาพ
โครงสร้างของตลาดหรือผู้บริโภคที่เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาส
โครงสร้างของประชากรและพฤติกรรมที่เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาส
ทัศนคติ ความนิยม หรือ วิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
มีการสร้างความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า แหล่งของโอกาสต่างๆ เหล่านี้ อาจแยกออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ
โอกาสจากความบังเอิญ หรือที่เรียกว่า “เฮง”
โอกาสจากการค้นพบหรือจากองค์ความรู้ใหม่ หรือที่เรียกว่า “เก่ง”
โอกาสที่เกิดจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดพลาด หรือที่เรียกว่า “ผิดเป็นครู”
ความไม่ “เก่ง” และไม่ “เฮง” ก็ยังจะสร้างโอกาสขึ้นได้ หากผู้ประกอบการยังเป็นคนที่ขยันทำงาน ช่างสังเกต และเรียนรู้กับสิ่งที่ตนเองได้ทำไปกับมือ ถึงแม้ว่าในครั้งแรกจะยังไม่เกิดความสำเร็จขึ้นมา
ความพยายามและความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นจิตวิญญาณที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะประสบความสำเร็จ
โอกาสของธุรกิจใหม่หรือธุรกิจนวัตกรรมไม่เพียงแต่จะอาศัยความสามารถภายในของกิจการ เช่น ความพร้อมในเรื่องการออกแบบและการผลิต และการมองการณ์ไกลของตัวเจ้าของธุรกิจเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ก็คือความต้องการของตลาดอีกด้วย
สินค้าใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะเจาะ ถูกจังหวะ ถูกเวลา ความแปลกใหม่ที่จะมอบให้กับผู้บริโภคก็จะต้องสามารถกระตุ้นความสนใจ หรือสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคได้ และต้องสามารถยืนอยู่ในตลาดได้ยาวพอให้เกิดการคุ้มทุน
การมีขนาดตลาดของกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่เพียงพอ และสภาวะของการแข่งขันที่ไม่รุนแรงมากนัก ก็จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้สูงขึ้นได้
ฝรั่งจะมอง “โอกาส” เป็นเหมือนกับ “หน้าต่าง” จึงมักเรียกโอกาสว่าเป็น Window of Opportunity เพราะโอกาสมักจะเปิดหรือปิดก็ได้ สำหรับคนใดคนหนึ่งในเวลาใดเวลาหนึ่ง
แล้วเอสเอ็มอีไทยเราละครับ จะมองเห็นโอกาสเป็นอะไรดี ?!!?