3/13/08

คุณลักษณะของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

คุณลักษณะของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Characteristics of Self-Actualizing People)

Maslowได้กำหนดคุณลักษณะของบุคคลที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงไว้15 ข้อดังนี้
1. มีความสามารถที่จะรับรู้ความเป็นจริงอย่างถูกต้อง ( Efficient Perception of Reality )
คุณลักษณะที่เด่นอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงคือมีความสามารถที่จะรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ถูกต้องและตรงตามความจริงและจะมีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงนั้น ๆ อย่างมีความสุข โดยไม่มองว่าความเป็นจริงเหล่านั้นเป็นปัญหากับตน เขาจะไม่ยอมให้ความปรารถนาและความหวังของเขาบิดเบือนสิ่งที่เขาได้ประสบ เขาจะมีความเข้าใจผู้อื่นและสามารถตัดสินผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วในพฤติกรรมต่างๆ เช่น การเสแสร้ง ความไม่จริงใจ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ Maslow ค้นพบว่าความสามารถที่จะรับรู้ความเป็นจริงอย่างถูกต้องจะเห็นได้ชัดเจนในบุคคลหลายๆ อาชีพ เช่น ศิลปิน นักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และนักปรัชญา เป็นต้น
บุคคลที่มีความสามารถรับรู้ความเป็นจริงอย่างถูกต้องจะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มองโลกในแง่ร้าย และมีความสามารถอดทนต่อความไม่สมหวังหรือความผันแปรไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ และเมื่อมีความผิดหวังใดๆ เกิดขึ้นก็จะยอมรับ และไม่รู้สึกกระทบกระเทือนใจโดยจะอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายใจ

2. ยอมรับในตนเอง ยอมรับผู้อื่น และยอมรับธรรมชาติ (Acceptance of Self, others, and Nature)
บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีจะมีความรู้สึกยกย่องนับถือตนเองและผู้อื่น เป็นความรู้สึกยกย่องที่ไม่มากเกินไปจนเกินความเป็นจริง และมีความอดทนในข้อบกพร่อง ความผิดหวัง ความอ่อนแอของตน และเป็นคนที่มีอิสระจากการถูกครอบงำในความรู้สึกผิด ความรู้สึกอาย ความรู้สึกท้อแท้ใจ หรือความวิตกกังวล สำหรับการยอมรับในธรรมชาติ หมายถึงการยอมรับในธรรมชาตินั้นๆ เช่น ยอมรับว่าน้ำย่อมทำให้เปียกหินย่อมแข็ง ต้นไม้ใบไม้ย่อมมีสีเขียว เป็นต้น
ลักษณะของบุคคลที่ยอมรับในตนเองแสดงออกและเห็นได้ชัดเจนในระดับการสนองความต้องการทางร่างกายคือจะเป็นคนที่รับประทานอาหารได้ นอนหลับสนิทและมีความสุขในเรื่องเพศ

3. มีความคล่องตัว มีความเป็นธรรมชาติโดยไม่เสแสร้ง ( Spontaneity, Simplicity, Naturalness )
พฤติกรรมของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะแสดงให้เห็นถึงความคล่องตัวและไม่มีการแสร้งทำ เขาจะแสดงออกถึงชีวิตภายในที่เป็นตัวของตัวเอง เช่น ความคิด และแรงกระตุ้นต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ชื่นชมหรือประทับใจผู้อื่น หรือบางครั้งอาจดูเหมือนกับว่าขาดความสุภาพ แต่พฤติกรรมต่างๆ ของเขาก็จะไม่ผิดไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี

4. ใช้ปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem Centering)
เมื่อมีปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการประกอบอาชีพ การทำงานในหน้าที่ ฯลฯ เขาจะไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางหรือเอาแต่ใจตนในการแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่จะแก้ปัญหาให้ตรงสาเหตุโดยไม่เข้าข้างตนเองนอกจากนี้การทำงานของเขาจะมีหลักการว่ามีชิวิตอยู่เพื่องานมากกว่าที่จะทำงานเพื่อให้มีชีวิตอยู่ คือมีแนวโน้มที่จะอุทิศตนเองในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

5. มีความสันโดษมีความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสงบเรียบร้อย (Detachment : Need for Privacy)
เป็นผู้ที่ไม่สร้างความผูกพันหรือพึ่งพาอาศัยผู้อื่นมากนัก ซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้อื่นมองว่าเป็นคนไว้ตัว ทำตัวห่างเหิน หยิ่ง หัวสูง และเย็นชา ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ไม่มีความต้องการสร้างมิตรภาพกับผู้อื่นมากเกินไป เขาจะเชื่อมั่นในความสมบูรณ์ภายในตัวของเขาเองและไม่รู้สึกเดือดร้อนที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น

6. เป็นตัวของตัวเองมีอิสระจากวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (Autonomy : Independence of Culture and Environment)
ผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะไม่สร้างเงื่อนไขให้ความพึงพอใจของตนเองขึ้นอยู่กับวัตถุและสิ่งแวดล้อมของสังคม เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่มีต่อความเจริญเติบโตและพัฒนาการ ในลักษณะเช่นนี้ เขาจึงไม่เรียกร้องสิ่งแวดล้อมพิเศษที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้

บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีย่อมต้องการนำตนเองและต้องการความอิสระ เขาจะมองตนเองว่าเป็นผู้บังคับบัญชาหรือปกครองตนเอง เขาจะมีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบและมีวินัยในตนเองในอันที่จะกำหนดวิถีชีวิต หรือจุดมุ่งหมายของเขาและมีความเชื่อมั่นในตนเองในด้านความคิดเห็นต่างๆ โดยจะให้ความสำคัญน้อยมากในเรื่องความมีหน้ามีตา การได้รับเกียรติยศ หรือการเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เขากลับให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาตนและการเจริญเติบโตของจิตใจ

7. มีความรู้สึกชื่นชมยินดีอยู่เสมอ (Continued Freshness of Appreciation)
Maslow พบว่าผู้ที่มีสุขภาพจิตดีและมีวุฒิภาวะจะมีความชื่นชมในชีวิตความเป็นอยู่ของตนโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือท้อแท้สิ้นหวัง เขาจะมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความสุขสดชื่น เห็นความสดชื่นสวยงามของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เห็นความสวยงามของพระอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้า เห็นความน่ารักของดอกไม้ที่กำลังแย้มบาน กล่าวได้ว่าชั่วทุกขณะของเขาจะเป็นชีวิตที่ตื่นเต้นเร้าใจและมีความหมายตลอดเวลา

8. มีความรู้สึกล้ำลึกกับธรรมชาติ (Peak of Mystic Experience)
ความรู้สึกล้ำลึกกับธรรมชาติหมายถึงความรู้สึกว่าตัวเองผสมกล้ำกลืนไปกับธรรมชาติหรือกับโลก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้สูญเสียความรู้สึกตัว เช่น การแสดงออกถึงการหยั่งรู้และค้นพบสิ่งที่แอบแฝงลึกลับ ทำให้บางครั้งดูเหมือนว่าเขาไม่ได้อยู่ในความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน

9. สนใจสังคม (Social Interest)
เขาจะมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และมีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีทัศนคติต่อตัวเองว่าเสมือนเป็นพี่ที่จะให้ความอบอุ่นและคุ้มครองน้องๆ

10. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relations)
บุคคลที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ลึกซึ้งและสนิทสนมเป็นเพื่อนสนิทเพียง 2 – 3 คน เขาไม่ต้องการเพื่อนมากแต่ต้องการเพื่อนแท้และมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีลักษณะและมีความสามารถพิเศษคล้ายคลึงกับส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้สึกอ่อนโยนกับเด็กและมักจะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจได้ง่าย เขาเป็นคนที่มีความเมตตา กรุณา และจะแสดงความรู้สึกไม่พอใจอย่างเปิดเผยกับคนที่หลอกลวงหรือไม่จริงใจกับเขา

11. มีความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Character Structure)
จะเป็นผู้ที่มีค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่มีอคติ มีความเคารพต่อผู้อื่น มีความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากบุคคลใดก็ได้ที่มีความสามารถจะเป็นครูเขา Maslow พบว่าผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะไม่แบ่งแยกว่ามนุษย์นั้นไม่เท่าเทียมกัน

12. รู้ความแตกต่างระหว่างวิธีการและเป้าประสงค์ (Discrimination between Means and Ends)
เขาจะยึดมั่นในหลักศีลธรรมจรรยาอย่างมั่นคงในการกระทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ที่ดีงามและไม่มีความรู้สึกสับสนหรือความคิดขัดแย้งว่าสิ่งใดถูกหรือผิดสิ่งใดดีหรือเลวเขาสามารถที่จะวิเคราะห์ระหว่างสิ่งที่เขาพยายามค้นหากับวิธีการที่จะประสบความสำเร็จ และรู้สึกมีความสุขที่จะแสดงพฤติกรรมอันถูกต้องเหมาะสมอันจะนำไปสู่เป้าประสงค์

13. มีอารมณ์ขันอย่างมีสันติ (Sense of Philosophical Humor)
เขาจะมีอารมณ์ขันอย่างมีความคิด เช่น ไม่ขบขันในสิ่งโหดร้ายทารุณ หรือขบขันในสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องหรือเป็นปมด้อยของผู้อื่น และไม่สร้างสถานการณ์ขบขันที่จะทำให้ผู้อื่นอับอายหรือเจ็บปวด ส่วนการแสดงอารมณ์ขันนั้นจะใช้การยิ้มมากกว่าหัวเราะ

14. มีความสามารถในการสร้างสรรค์ (Creativeness)
Maslow พบว่าความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะมีในคนที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริงมากกว่าบุคคลอื่นๆ ความคิดสร้างสรรค์ของเขาจะแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป และแสดงออกในบุคลิกภาพ หรือในผลงานต่างๆ เช่น บทกวี ศิลป ดนตรี งานทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

15. การต่อต้านวัฒนธรรมภายนอกที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมภายในตน ( Resistance to Enculturation)
บุคคลที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะมีความพร้อมที่จะเผชิญกับวัฒนธรรมหรือประสบการณ์ใหม่ๆ จากสิ่งแวดล้อมของเขาและสามารถที่จะบูรณาการประสบการณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับตน หรืออาจจะรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็จะมีความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ตรงกับปทัสฐานทางวัฒนธรรม เช่น เขาอาจมีความพอใจที่จะทำพฤติกรรมบางอย่างซึ่งขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การกระทำของเขาจะขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีหรือไม่มีขอบเขตจำกัดของพฤติกรรมนั้นๆ โดยแท้จริงแล้วเขายังมีข้อจำกัดที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์แต่จะมีค่านิยมของตนเองที่จะเลือกประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ

Maslow เชื่อว่าการพัฒนาตนเพื่อไปสู่ความต้องการขั้นสูงสุด คือ การเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกคนโดยไม่จำเป็นจะต้องมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ว่าสติปัญญามีส่วนช่วยในการพัฒนาแต่ก็มิใช่องค์ประกอบที่สำคัญ อย่างไรก็ตามบุคคลที่พัฒนามาถึงจุดสูงสุดของความต้องการก็มิได้หมายความว่า เขาจะเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์แบบทุกอย่าง เพราะเขาก็ยังเป็นบุคคลธรรมดาที่ยังมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป เช่น มีความรู้สึกเสียใจ โกรธ กลัว มีความระแวงสงสัย หรือมีความรู้สึกอ่อนไหวที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เห็นแก่ตัว ใจน้อย หรือเศร้าซึม แต่เขาสามารถระงับและขจัดอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างดีไม่ให้แสดงออกมาอย่างไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นผู้ที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจึงไม่ใช่บุคคลที่มีความสุขสมบูรณ์ในชีวิตหรือประสบความสำเร็จในความปรารถนาทุกอย่างหรือมีความสามารถปรับตัวได้ดียิ่ง แต่สิ่งสำคัญของบุคคลเหล่านี้คือมีความเข้าใจตนเอง เข้าใจโลกและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะชี้นำการดำเนินชีวิตของตนได้ประสบความสุขและความสำเร็จได้ดีกว่าคนอื่นๆ

1/17/08

ตั้งเป้าท้าทายมีความหมายกับพฤติกรรมการทำงาน

คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต แม้จะประสบความสำเร็จในเรื่องที่แตกต่างกัน บางคนประสบความสำเร็จในด้านงาน บางคนประสบความสำเร็จด้านการเงิน บางคนประสบความสำเร็จด้านครอบครัว ฯลฯ แต่ทุกคนจะมีความเหมือนในความแตกต่างนั้นอยู่อย่างหนึ่งคือ "คิดการใหญ่” การคิดการใหญ่มิได้หมายถึงเพียงการเพ้อฝันเกินตัว แต่เป็นการตั้งเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น สูงกว่าที่คนทั่วๆ ไปเขาคิดกัน คนเหล่านี้มักจะมองว่าเป้าหมายที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายในชีวิต
พลังความอดทน อดกลั้นของคนมักจะถูกกำหนดโดยช่องว่างระหว่างเป้าหมายกับจุดที่เรายืนอยู่ในขณะนั้น ผมขอยกตัวอย่างประกอบสักสองตัวอย่าง ตัวอย่างแรกคือ การวิ่งออกกำลังกายรอบสนามฟุตบอล ในขณะที่เราวิ่งอยู่นั้น ถ้าเราตั้งเป้าว่าจะวิ่งสัก 3 รอบ จิตใจของเราก็จะกำหนดจุดไว้เลยว่าพลังอึดของเราจะขึ้นสูงสุดและหมดลงเมื่อครบ 3 รอบสนาม เราจะรู้สึกหมดแรงเมื่อใกล้ๆ จะครบสามรอบสนาม เพราะเราไปกำหนดจิตไว้ที่สามรอบ แต่ถ้าเราตั้งเป้าว่าจะวิ่งสี่รอบ เมื่อครบสามรอบแล้วเราจะมีความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการตั้งเป้าเพียงสามรอบ เพราะในความเป็นจริงแล้ว จิตใจของเรามีศักยภาพสูงมาก เพียงแต่ตัวเราเองไปตั้งค่าของมันไว้ในจุดที่ต่ำกว่าสิ่งที่มันควรจะเป็น สรุปง่ายๆ คือเราไปกำหนดระดับของความท้อแท้ไว้ก่อนล่วงหน้านั่นเอง

ตัวอย่างที่สองที่จะพูดถึงคือ ถ้าเรากำลังถกเถียงกับใครบางคน เรามักจะมีการกำหนดจุดระเบิดทางอารมณ์ของเราไว้ที่จุดๆหนึ่ง(จุดหมดความอดกลั้น) เช่น ถ้ามันด่าเรามาอีกสักประโยคเดียว เราจะชกหน้ามันทันที และเมื่อคนๆนั้นพูดด่าเราออกมาจริงๆ รับรองได้เลยว่า 99.99% เราชกหน้าเขาอย่างแน่นอน เพราะเราไปตกลงทำสัญญาใจกับตัวเองเอาไว้ แล้วสัญญาแบบนี้มักจะเป็นสัญญาลูกผู้ชายเสมอคือไม่ค่อยยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลง

จากตัวอย่างดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าการกำหนดเป้าหมายไม่ว่าเรื่องใดก็ตามจะส่งผลต่อพฤติกรรมและวิธีการทำงานของคนเราอย่างมาก ผมจึงขอเสนอแนวทางในการตั้งเป้าหมายในการทำงานที่มีประสิทธิภาพดังนี้
ตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าที่เราต้องการไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในการทำงานหรือเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิต เราควรตั้งเป้าหมายแบบมูลค่าเพิ่ม หมายถึงการตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าที่เราต้องการ เช่น เราต้องการเก็บเงินซื้อรถยนต์สักคันหนึ่งราคาประมาณหกแสนบาท เราควรจะตั้งเป้าเก็บเงินให้ได้มากกว่านั้น เพราะต้องเผื่อเงินบางส่วนไว้ใช้ตกแต่ง ซ่อมแซม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับรถไว้ด้วย ถ้าเราต้องการเป็นผู้จัดการภายใน 5 ปีข้างหน้า ให้เราตั้งเสียใหม่อาจจะเป็น 3 ปี หรือ 2 ปี เพราะการที่เราบีบเป้าหมายให้สั้นลงหรือยากขึ้นนั้น เราจะต้องคิดมากขึ้น หาช่องทางที่ดีขึ้น พัฒนาตัวเองให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าจะขับรถไปรับลูกค้าภายใน 1 ชั่วโมง พฤติกรรมในการขับรถของเราอาจจะขับแบบเรื่อยๆค่อยๆไป เจออะไรข้างหน้าก็จะแวะดูก่อน แต่ถ้าเรากำหนดเสียใหม่ให้ท้าทายมากขึ้น เราจะต้องกำหนดว่าเราจะเดินทางไปให้ถึงก่อนเวลาที่นัดกับลูกค้าไว้ โดยเราตั้งเป้าหมายในการขับรถประมาณ 40 นาที พฤติกรรมการขับรถของเราจะเปลี่ยนไป อะไรที่เกิดขึ้นข้างทางเราจะไม่สนใจ เรามุ่งแต่การขับรถอย่างไรให้ถึงจุดหมายภายใน 40 นาทีเท่านั้น
การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายหรือสูงกว่าที่เราต้องการ จะช่วยให้เรามีแรงฮึดหรือแรงส่งมากกว่าการตั้งเป้าต่ำ นอกจากนี้ การตั้งเป้าสูงจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะถึงแม้เราจะไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้(เกินจริง) แต่ผลที่ได้อาจจะเท่ากับหรือสูงกว่าเป้าหมายที่เราต้องการได้ เช่น เราต้องการมีเงินเดือนเป็นแสนเมื่อทำงานครบสิบปี ถ้าเราตั้งเป้าว่าทำงานครบห้าปี เราจะมีเงินเดือนเป็นแสน แต่เมื่อเวลาผ่านไปห้าปี เงินเดือนของเราอาจได้เพียงแปดเก้าหมื่น(ต่ำกว่าเป้าหมาย) แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินเดือนของเราอาจจะสูงกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับเราก็ได้

ตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าที่เคยทำได้ในอดีตการตั้งเป้าหมายควรจะนำเอาผลสำเร็จและเป้าหมายในอดีตมาพิจารณาเพื่อกำหนดเป้าหมายในระดับที่สูงขึ้น เพราะจะทำให้เป้าหมายการทำงานของเรามีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเคยตั้งเป้าหมายไว้แล้ว แต่ไปประสบความสำเร็จ แล้วเมื่อตั้งเป้าหมายใหม่ก็เลยลดระดับของเป้าหมายลง อย่างนี้จะทำให้เกิดเป็นนิสัยที่ไม่ดีกับตัวเองคือ เราจะทุ่มเทความพยายามในการไปสู่จุดหมายที่ลดลง เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายนั้นๆ สามารถปรับลดลงได้ ทางที่ดีเราควรจะปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานให้เหมือนกับนักกีฬาที่ต้องการทำลายสถิติตัวเองให้ได้
สร้างพันธะผูกพันให้ตัวเอง (Commitment)ต้องยอมรับว่าการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร โอกาสที่เราจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายลดลงนั้นมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายนั้นๆ เป็นเป้าหมายที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้น เพื่อป้องกันการเปลี่ยนใจของตัวเราเอง จึงขอแนะนำให้สร้างพันธะผูกพันกับคำมั่นสัญญาของตัวเองไว้กับบุคคลอื่นๆ อาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานหรือบุคคลอื่นๆ เพราะเป็นกลไกทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เรายึดมั่นกับเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้กับผู้อื่น
จับจ้องที่เป้าหมายปลายทาง (Ended Results)ในระหว่างทางที่เดินไปสู่จุดหมาย แน่นอนเราจะต้องประสบพบเจอกับปัญหาอุปสรรคบ้าง เมื่อเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย อยากยกเลิกการกระทำนั้นๆ ขอให้เอาใจไปจับจ้องไว้ที่ผลสำเร็จของสิ่งนั้น เช่น เบื่อการทำงาน เบื่อเพื่อนร่วมงาน ขอให้คิดไว้ว่าความเบื่อนั้นเป็นเพียงแค่ทางผ่านที่เราจะไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จในชีวิตการทำงาน เดี๋ยวเดียวความเบื่อก็จะถูกทดแทนด้วยสิ่งใหม่ เมื่อความเบื่อจากไปความใกล้เคียงกับเป้าหมายก็จะเข้ามาเยือน จงสร้างกำลังใจให้กับตัวเองโดยให้ขอยืมความรู้สึกเมื่อเราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้มาใช้ก่อนล่วงหน้า จะช่วยให้เรามีกำลังใจในการเดินทางไปสู่เป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น
ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายให้ท้าทาย จะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบพฤติกรรม รูปแบบ และแนวทางในการทำงานหรือการดำเนินชีวิตให้กับคนเรา ถ้าเราจะเลือกคบใครสักคนเป็นเพื่อนขอแนะนำให้คบกับคนที่มีการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายไว้ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเขาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วๆ ไป นอกจากนี้ขอให้ลองศึกษาประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตดู เราจะพบว่าเอกลักษณ์หรือวิธีคิดของเขาจะแตกต่างไปจากคนอื่น ซึ่งถ้าเราศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงแก่นแท้ของวิธีคิดของเขาเหล่านั้นแล้ว ถึงแม้แต่ละคนจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน มีกลยุทธ์ในการบริหารงาน บริหารชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการจุดประกายพลังขับเคลื่อนภายใน (Internal Drive) ให้กับตัวเองโดยการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายนั่นเอง
"ชีวิตจะมีค่า ถ้ารู้ว่าเราอยู่ที่ไหน กำลังมุ่งหน้าไปยังที่แห่งใด และจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร”

ปฏิบัติตนอย่างไร...ให้หัวหน้างานพอใจ

By : อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์

หากคุณไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัท/กิจกรรม หรือทำงานอิสระ (Freelance) แล้วล่ะก็ ทุกคนคงจะมีหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ให้คุณให้โทษแก่คุณ พบว่าลูกน้องหลายต่อหลายคนที่มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ก็เพราะหัวหน้างานที่คอยเป็นผู้ผลักดัน ช่วยเหลือ และอบรมพัฒนาให้มีความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งให้โอกาสแก่คุณได้แสดงฝีมือในการทำงาน

และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหัวหน้างานจะมีหลากหลายสไตล์ที่แตกต่างกันไป เช่น พวกที่จู้จี้ขึ้บ่น หรือพวกที่ชอบเอะอะโวยวาย เป็นต้น แน่นอนว่าไม่มีหัวหน้างานคนไหนที่ดีสุดๆ แบบชนิดที่ว่า PERFECT ไปซะทุกเรื่อง ดังนั้นในฐานะที่คุณเองเป็นลูกน้องคนหนึ่ง ดิฉันอยากให้คุณมองตนเองก่อนว่าจะทำตัวอย่างไรให้หัวหน้างานพอใจ ทั้งนี้การปฏิบัติตนให้หัวหน้างานพอใจนั้นไม่ใช่เรื่องอยาก เพียงขอให้คุณเข้าใจความต้องการหรือธรรมชาติของผู้เป็นหัวหน้างานว่าพวกเค้าต้องการหรือมีธรรมชาติอย่างไร ซึ่งดิฉันได้สรุปเทคนิคในการปฏิบัติตนเพื่อให้หัวหน้างานพึงพอใจ ดังต่อไปนี้

A - Accuracy : ทำงานให้ถูกต้อง แม่นยำ
ไม่มีหัวหน้างานคนไหนอยากให้ลูกน้องทำงานผิด ๆ ถูก ๆ แก้แล้วแก้อีก แบบชนิดที่ว่าต้องคอยกำกับไปซะทุกเรื่อง หากคุณรีบทำงานและส่งงานมาให้ตรงหรือก่อนเวลาที่กำหนด แต่ผลงานที่ออกมานั้นต้องมีการแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า งานชิ้นนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยในสายตาของหัวหน้างาน มันอาจจะส่งผลต่อผลการทำงาน (Performance) ที่ไม่ดีของตัวคุณเอง ดังนั้นดิฉันขอแนะนำว่าควรทำงานให้ถูกต้องแม่นยำจะดีที่สุด อย่าพยายามรีบนำส่งโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูล เพราะจะทำให้หัวหน้าคุณเริ่มไม่ไว้วางใจในตัวคุณ อย่าลืมว่าความไว้วางใจจะเกิดขึ้นจากผลงานที่คุณทำ ซึ่งหากหัวหน้างานเจอข้อผิดพลาดแล้วล่ะก็ เค้าอาจต้องลงมาควบคุมการทำงานคุณอย่างใกล้ชิด ชนิดที่ว่าคุณเองอาจจะอึดอัดใจหรือรำคาญใจเลยก็ว่าได้

C - Cooperation : ให้ความร่วมมือ และอาสาทำงาน
อย่าพยายามเกี่ยงหรือหลีกเลี่ยงงานที่หัวหน้ามอบหมายพิเศษ หรืออาจเป็นงานด่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพียงเพราะคิดว่าไม่อยากให้ใครมาเอาเปรียบ หรือคิดว่าทำไมไม่ใช้ให้อีกคนทำ เกรงว่าตนเองจะต้องอยู่ดึกดื่น หรือทำงานในวันหยุด ลูกน้องบางคนคิดว่าได้เงินแค่นี้ก็ทำงานในปริมาณเท่านี้ก็พอแล้ว ทำไมต้องอุทิศตนอะไรมากมาย ทำงานให้ดีแค่ไหน เงินเดือนก็ไม่ขึ้น ไม่รู้จะทำไปทำไม คุณรู้ไหมว่าหากคุณคิดแบบนี้ ก็เท่ากับว่าคุณปิดโอกาสในการเรียนรู้งานเพิ่มเติม ปิดโอกาสที่จะฝึกทักษะในการทำงานใหม่ ๆ และโดยเฉพาะปิดโอกาสที่จะแสดงศักยภาพหรือความสามารถให้หัวหน้างานเห็น และผลที่ตามมาก็คือ ค่าตัวหรือมูลค่า (Value) ของตัวคุณไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอายุของคุณเลย และผลในระยะยาวก็คือคุณจะมีความสามารถหรือทักษะที่จำกัดเฉพาะแค่งานที่ทำเท่านั้น ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่าความสามารถในการทำงานของคุณ จะบ่งบอกถึงมูลค่าของคุณเอง ยิ่งคุณมีมูลค่ามากขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งมีค่าตัวมากขึ้นเท่านั้น

F - Follow Up : ติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ
คงไม่มีหัวหน้างานคนไหนที่อยากจะมาจ้ำจี้จำไชลูกน้องทุก ๆ วัน หรือคอยติดตามสอบถามความคืบหน้าจากลูกน้องอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นลูกน้องเองควรจะติดตามงานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานอย่างสม่ำเสมอ และรีบแจ้งความคืบหน้าให้หัวหน้าทราบทันที อย่ารอให้หัวหน้าต้องทวงถามหรือถามถึงก่อนอยู่บ่อยครั้ง แต่พยายามแจ้งความคืบหน้าหรือความก้าวหน้าของงานที่คุณเองได้ติดตามไป หากงานที่คุณกำลังติดตามมีปัญหาหรือข้อขัดข้องที่คุณไม่สามารถแก้ไขได้ ขอให้รีบแจ้งหัวหน้าของคุณเองเพื่อให้เค้ารับรู้ปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมงานที่มอบหมายถึงไม่คืบหน้าเสียที จงอย่าแบกรับปัญหาเอาไว้เองโดยที่หัวหน้างานของคุณไม่รับรู้อะไรเลย ดังนั้นการติดตามและแจ้งผลของงานให้หัวหน้าทราบ จะทำให้หัวหน้างานไม่ต้องคอยกังวลหรือถามไถ่งานจากคุณบ่อยครั้งนัก

L - Listening : ฟังให้เข้าใจ ก่อนลงมือปฏิบัติ
ลูกน้องหลายคน กลัวไม่กล้าถามหัวหน้างานหากไม่เข้าใจงานที่มอบหมายให้ หรือบางครั้งอาจคิดไปเองโดยไม่มีการสอบถามหรือทบทวนงานที่มอบหมายให้ทำ ในส่วนนี้ทั้งหัวหน้าและลูกน้องคงจะต้องทำความเข้าใจกันก่อน โดยหัวหน้าเองอาจจะสอบถามความเข้าใจจากลูกน้องว่ามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง และผู้ที่เป็นลูกน้องเองควรจะทวนโจทย์หรืองานที่นายมอบหมายให้ทำ อย่าเดาหรือคิดเอาเอง เพราะจะยิ่งทำให้เสียเวลาทั้งตัวลูกน้องเองเพราะจะต้องแก้ไขงานและนำส่งงานให้หัวหน้าใหม่ และหัวหน้าเองอาจต้องเสียเวลาในการตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นควรตั้งใจฟังพยายามจับประเด็นให้ได้ว่าหัวหน้างานต้องการให้ทำอะไร มีขั้นตอนอย่างไร และต้องนำส่งงานให้หัวหน้างานเมื่อไหร่ และควรจะสอบถามเพิ่มเติมหากมีข้อสงสัย อย่าให้เป็นคำถามที่คาใจคุณ เพราะอาจทำให้คุณทำงานผิดพลาดไปได้

R - Respect : เคารพยกย่อง อ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่ว่าหัวหน้างานจะเก่งหรือไม่เก่งกว่าคุณ หรือเป็นหัวหน้างานที่คุณเองไม่ถูกชะตาเอาซะเลย คนที่เป็นลูกน้องที่ดี ควรให้เกียรติหัวหน้างาน พยายามอย่าเอาเรื่องของหัวหน้าไปเมาส์หรือป่าวประกาศในทางเสียหาย อย่าพยายามพูดให้ใครต่อใครคิดและรู้สึกไม่ดีต่อหัวหน้างานของเราเอง การแสดงความเคารพนั้นยังหมายรวมถึงการยอมรับฟังในประเด็น หรือเหตุผลของหัวหน้างาน อย่าพยายามโต้เถียงเพื่อเอาชนะ จงยอมรับและปฏิบัติตามในผลสรุปที่หัวหน้างานเห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม นอกจากนี้การแสดงความเคารพยังหมายความถึงการใช้คำพูดกับหัวหน้างานคุณเอง จงระวังคำพูดที่สื่อสารออกไป บางครั้งคุณอาจจะสนิทสนมกับหัวหน้างานมากจนลืมไปว่าเค้าคือหัวหน้าของคุณเอง ซึ่งคำพูดที่สื่อออกไปอาจฟังแล้วไม่รื่นหู จนบางครั้งไม่รู้ใครเป็นหัวหน้าหรือลูกน้องกันแน่ และขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า คำพูดเปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งจะทำให้ผู้ใหญ่ชอบหรือไม่ชอบตัวเราจากคำพูดที่สื่อออกไป

S - Self Improvement : ปรับปรุงตนเอง สร้างความสำเร็จ
ลูกน้องที่ดีควรพยายามคิดหาวิธีการที่จะปรับปรุงและพัฒนาระบบงานของตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ พยายามคิดว่าจะช่วยงานของหัวหน้างานได้อย่างไรเพื่อให้หัวหน้างานเบาแรงและเบาใจ รวมทั้งควรรับฟังหัวหน้างานเมื่อหัวหน้างานชี้แจงข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่เค้าต้องการให้คุณปฏิบัติ อย่าถือโทษโกรธเคืองหัวหน้าของคุณเองเพียงเพราะเค้าเตือนหรือต่อว่าการทำงานของคุณ ขอให้คุณมองให้ลึกซึ้งลงไปว่าการที่หัวหน้าคอยตักเตือนหรือสอนสั่งคุณ เหตุเพราะเค้าอยากให้คุณได้ดิบได้ดีในอนาคตข้างหน้า เค้าอยากให้คุณปรับปรุงและพัฒนาผลงานของตนเองให้ดีขึ้น การตักเตือนหรือต่อว่าการทำงานของคุณ ณ ตอนนี้ จะดีกว่าที่คุณไม่รู้เลยว่าคุณทำงานเป็นอย่างไร และเมื่อถึงเวลาประเมินผลการทำงาน หัวหน้างานอาจจะประเมินผลการทำงานของคุณไม่ดีหรือไม่เป็นไปอย่างที่คุณหวังหรือคิดไว้เลย
ดังนั้นในฐานะที่คุณเองเป็นลูกน้องคนหนึ่ง ขอให้คุณเริ่มมองตนเองว่าคุณปฏิบัติตนอย่างไรกับหัวหน้างานของคุณเอง และหัวหน้างานยอมรับคุณมากน้อยแค่ไหน หากสถานการณ์ระหว่างคุณกับหัวหน้างานไม่สู้ดีนัก คุณควรเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเสียใหม่ ยังไม่สายเกินแก้ที่จะปฏิบัติตนให้หัวหน้างานพอใจ พยายามสร้างรอยยิ้มและเสียหัวเราะในการทำงานร่วมกับหัวหน้างาน และในที่สุดคุณเองจะเป็นผู้หนึ่งที่มีความสุขและสนุกกับการทำงานร่วมกับหัวหน้างานของคุณเอง

กำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่น

คนเราเกิดมาคงไม่มีใครดีพร้อมไปหมดทุกด้าน คนทุกคนย่อมมีทั้งจุดอ่อนและจุดเด่นแตกต่างกันไปตามเบื้องหลังชีวิตของแต่ละคน บางคนฉลาดแต่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางคนเก่ง แต่นำเสนอไม่เป็น บางคนทำงานดี ขยันขันแข็ง แต่รับไม่ได้ที่ถูกคนอื่นตำหนิหรือดุด่า บางคนเก่ง แต่ไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ฯลฯ
สิ่งสำคัญในการพัฒนาตนเอง ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีจุดอ่อนหรือจุดเด่นน้อยกว่าหรือมากกว่ากัน แต่อยู่ที่ใครสามารถค้นหา ยอมรับ และลงมือกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดเด่นของตนเองได้มากกว่า คนบางคนหาไม่เจอแม้กระทั่งจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเอง คนบางคนหาเจอแต่ไม่ยอมรับจุดอ่อน หรือบางคนยอมรับแต่บอกว่าแก้ไขยากหรือแก้ไขไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว

ชีวิตคนเราไม่แตกต่างอะไรไปจากเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทรที่ต้องเจอทั้งคลื่นลมและมรสุมในรูปแบบต่างๆ ถ้าเรือของเรามีความแข็งแกร่งพอก็สามารถแล่นผ่านมรสุมไปได้ แต่ถ้าเรือของเราไม่แข็งแกร่งเพียงพออาจจะผ่านไปแบบสะบักสะบอมหรือไม่ก็อับปางลงไปก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางก็ได้ แต่เราจะเห็นว่าเรือบางประเภท เช่น เรือใบ เป็นเรือที่ไม่แข็งแรงเหมือนเรือยนต์ประเภทอื่น แต่ทำไมมันถึงแล่นผ่านมรสุมไปได้เหมือนกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าถึงแม้เรือลำนั้นจะบอบบาง แต่ถ้ามีเทคนิคและวิธีในการแล่นเรือที่ดีก็สามารถผ่านมรสุมไปได้เช่นกัน เราจะเห็นว่าเรือใบหรือแม้แต่กระดานโต้คลื่นอันเล็กๆ สามารถต่อสู้และเอาชนะความแรงของคลื่นได้อย่างน่าทึ่ง เพราะทั้งสองอย่างนี้รู้จักใช้จุดอ่อนและจุดแข็งให้เป็นประโยชน์ในการเดินทาง เราจะเห็นว่าแม้เวลาลมเปลี่ยนทิศเรือใบสามารถที่จะวิ่งทวนกระแสคลื่นได้ ทั้งๆที่ไม่มีเครื่องยนต์ แต่เขาใช้เทคนิคการแล่นแบบสลับฟันปลา จึงทำให้เรือแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้เหมือนกัน

ถ้าใครเจอมรสุมชีวิตที่หนักๆ ขอให้นึกถึงเรือใบหรือกระดานโต้คลื่นไว้เป็นข้อคิด ขอให้คิดเสมอว่าใบเรือแห่งชีวิตของเราไม่ได้อยู่ที่มรสุมอะไรจะนำพาไปที่ใด แต่อยู่ที่ทิศทางและเป้าหมายชีวิตภายในของตัวเราเองว่าเราต้องการไปยังที่ใด ส่วนจะมีปัญหาอะไรเข้ามาขัดขวางหรือไม่นั้น เราสามารถบริหารมันได้ เหมือนกับเรือใบที่เปราะบางแต่สามารถนำพาผู้คนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

สำหรับการพัฒนาตนเอง โดยการกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งนั้น ผมขอแนะนำขั้นตอนในการพัฒนาดังนี้
1. สำรวจค้นหาจุดอ่อนและจุดเด่น
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเองคือ การค้นหาตัวเองให้เจอว่าตัวเองมีจุดอ่อนและจุดเด่นตรงไหนบ้าง สำหรับวิธีการในการวิเคราะห์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การเปรียบเทียบเรื่องต่างๆ กับผู้อื่น เช่น การควบคุมอารมณ์ ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการสื่อสาร ระบบการคิด การอ่าน การเขียน การนำเสนอ รวมถึงวินัยในตนเองในด้านต่าง ๆ
การใช้ผู้อื่นเป็นกระจกเงา หมายถึง การให้ผู้อื่นวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดเด่นของเราว่าเป็นอย่างไร โดยให้กลุ่มบุคคลที่อยู่รอบตัวเราเป็นคนวิเคราะห์ เช่น พ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง เพราะจะทำให้เราสามารถมองเห็นตัวเองในทุกมิติ เพราะจุดอ่อนหรือจุดเด่นบางอย่างเราไม่ได้แสดงออกให้คนบางกลุ่มเห็น เช่น พ่อแม่อาจจะไม่ทราบว่าทักษะในการสื่อสารเราเป็นอย่างไร แต่พ่อแม่จะทราบดีเกี่ยวกับนิสัยลึกๆ ของเราซึ่งเพื่อนร่วมงานอาจจะไม่ทราบ
การใช้แบบทดสอบ เราสามารถทดสอบจุดอ่อนและจุดเด่นของเราได้จากแบบทดสอบประเภทต่างๆ เช่น แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อดูลักษณะนิสัย แบบทดสอบทางภาษา แบบทดสอบการคำนวณ ฯลฯ
การนำเอาปัญหาและความสำเร็จในชีวิตมาทบทวนเพื่อหาจุดอ่อนและจุดเด่น เช่น ทบทวนดูว่าเรื่องอะไรที่เรารับไม่ได้ เรื่องอะไรที่เราไม่ชอบมากที่สุด เรื่องอะไรที่เรายังแก้ปัญหาไม่ตก ในขณะเดียวกันก็ให้ทบทวนดูความสำเร็จที่เราได้รับเกิดจากอะไร เช่น การที่เรามีหน้าที่การงานที่สูงในปัจจุบันเพราะเราเรียนเก่ง หรือเพราะเราทำงานดี เพราะเราเข้ากับหัวหน้าได้ดี ฯลฯ
2. จัดลำดับความสำคัญ
เมื่อเราทราบจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเองแล้ว ให้ลองนำมาจัดลำดับดูว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องกำจัดหรือพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
ถ้าไม่กำจัดจุดอ่อนหรือเสริมจุดเด่นนั้นๆ จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายในชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด เช่น ถ้าเราไม่กำจัดจุดอ่อนเรื่องการควบคุมอารมณ์ เราคงไม่สามารถเติบโตขึ้นเป็นหัวหน้าได้ หรือ ถ้าเราไม่พัฒนาทักษะด้านภาษา เราคงไม่สามารถทำงานกับบริษัทต่างชาติตามที่เราหวังไว้ได้
ความถี่ในการเกิดขึ้นของจุดอ่อนหรือจุดเด่น จุดอ่อนใดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ หรือไม่รู้ตัวให้กำจัดออกไปก่อน เช่น เรามักจะลืมตัวพูดอะไรออกไปโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังอยู่เสมอทั้งๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจ สำหรับจุดเด่นที่เรามีและต้องใช้งานบ่อยๆ ก็ควรจะพัฒนาเพิ่มเติมให้ดียิ่งๆขึ้น
3. ลงมือกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่น
สิ่งสำคัญที่สุดในการกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่นคือ การลงมือปฏิบัติจริง ถ้ามีความยากลำบากในการแก้ไขและพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมกัน ขอแนะนำให้ทำทีละอย่าง เช่น ช่วงแรกอาจจะพัฒนาในเรื่องทัศนคติก่อน เมื่อทำได้สำเร็จแล้ว ค่อยๆ พัฒนาในเรื่องอื่นๆต่อไป จุดหักเหที่สำคัญในการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่ที่ "อย่าล้มเลิกความตั้งใจ" คนบางคนท้อ คนบางคนขาดความอดทนอดกลั้น พ่ายแพ้ภัยตัวเอง แน่นอนว่าการทำอะไรก็ตามย่อมมีปัญหาอุปสรรค แต่ขอให้คิดเสียว่าปัญหาอุปสรรคนั้นคือความท้าทาย พยายามหาแรงจูงใจเข้ามาเสริมทัพอยู่ตลอดเวลา เช่น บางคนได้แรงใจจากลูก บางคนได้แรงใจจากเป้าหมายในชีวิต บางคนได้แรงใจจากเพื่อน
การกำจัดจุดอ่อนเปรียบเสมือนคนกำลังเลิกบุหรี่ อาจจะทรมานบ้าง หงุดหงิดบ้าง แต่ถ้าผ่านไปได้ถึงขั้นเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนนิสัย โอกาสที่มันจะกลับมางอกเงยในชีวิตของเราก็น้อยลง แต่ถ้าเราได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ โอกาสที่นิสัยที่ไม่ดีจะกลับมาเติบโตอีกก็มีมากขึ้น ฉะนั้นต้องกำจัดแบบถอนรากถอนโคน
4. ประเมินผลและแก้ไขปรับปรุง
เมื่อเราได้กำจัดจุดอ่อนหรือเสริมจุดแข็งอะไรให้กับชีวิตแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องทำคือการประเมินผลดูว่าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะอะไรก็ตามที่เราสามารถวัดได้ ประเมินผลได้ เราสามารถจัดการกับมันได้ และการประเมินผลจะช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพิ่มขึ้นไปอีก ขอให้คิดว่าการกำจัดจุดอ่อนและการพัฒนาจุดเด่นของเราเป็นเกมส์อย่างหนึ่งที่เรากำลังเล่นอยู่กับตัวเอง จงสนุกและเพลิดเพลินกับมันมากกว่าที่เราคิดว่าเป็นภาระหน้าที่ที่หน้าเบื่อ
จากเทคนิคดังกล่าวจะเห็นว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรามีจุดอ่อนหรือจุดเด่นอะไรหรือมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่อยู่ที่เราหาจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเองเจอหรือไม่ เรายอมรับมันหรือไม่ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นจุดอ่อน และเราได้ลงมือกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่นอย่างจริงจังหรือไม่
"ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นที่การชนะใจตนเอง"
คนเราเกิดมาคงไม่มีใครดีพร้อมไปหมดทุกด้าน คนทุกคนย่อมมีทั้งจุดอ่อนและจุดเด่นแตกต่างกันไปตามเบื้องหลังชีวิตของแต่ละคน บางคนฉลาดแต่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางคนเก่ง แต่นำเสนอไม่เป็น บางคนทำงานดี ขยันขันแข็ง แต่รับไม่ได้ที่ถูกคนอื่นตำหนิหรือดุด่า บางคนเก่ง แต่ไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ฯลฯ
สิ่งสำคัญในการพัฒนาตนเอง ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีจุดอ่อนหรือจุดเด่นน้อยกว่าหรือมากกว่ากัน แต่อยู่ที่ใครสามารถค้นหา ยอมรับ และลงมือกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดเด่นของตนเองได้มากกว่า คนบางคนหาไม่เจอแม้กระทั่งจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเอง คนบางคนหาเจอแต่ไม่ยอมรับจุดอ่อน หรือบางคนยอมรับแต่บอกว่าแก้ไขยากหรือแก้ไขไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว

ชีวิตคนเราไม่แตกต่างอะไรไปจากเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทรที่ต้องเจอทั้งคลื่นลมและมรสุมในรูปแบบต่างๆ ถ้าเรือของเรามีความแข็งแกร่งพอก็สามารถแล่นผ่านมรสุมไปได้ แต่ถ้าเรือของเราไม่แข็งแกร่งเพียงพออาจจะผ่านไปแบบสะบักสะบอมหรือไม่ก็อับปางลงไปก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางก็ได้ แต่เราจะเห็นว่าเรือบางประเภท เช่น เรือใบ เป็นเรือที่ไม่แข็งแรงเหมือนเรือยนต์ประเภทอื่น แต่ทำไมมันถึงแล่นผ่านมรสุมไปได้เหมือนกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าถึงแม้เรือลำนั้นจะบอบบาง แต่ถ้ามีเทคนิคและวิธีในการแล่นเรือที่ดีก็สามารถผ่านมรสุมไปได้เช่นกัน เราจะเห็นว่าเรือใบหรือแม้แต่กระดานโต้คลื่นอันเล็กๆ สามารถต่อสู้และเอาชนะความแรงของคลื่นได้อย่างน่าทึ่ง เพราะทั้งสองอย่างนี้รู้จักใช้จุดอ่อนและจุดแข็งให้เป็นประโยชน์ในการเดินทาง เราจะเห็นว่าแม้เวลาลมเปลี่ยนทิศเรือใบสามารถที่จะวิ่งทวนกระแสคลื่นได้ ทั้งๆที่ไม่มีเครื่องยนต์ แต่เขาใช้เทคนิคการแล่นแบบสลับฟันปลา จึงทำให้เรือแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้เหมือนกัน

ถ้าใครเจอมรสุมชีวิตที่หนักๆ ขอให้นึกถึงเรือใบหรือกระดานโต้คลื่นไว้เป็นข้อคิด ขอให้คิดเสมอว่าใบเรือแห่งชีวิตของเราไม่ได้อยู่ที่มรสุมอะไรจะนำพาไปที่ใด แต่อยู่ที่ทิศทางและเป้าหมายชีวิตภายในของตัวเราเองว่าเราต้องการไปยังที่ใด ส่วนจะมีปัญหาอะไรเข้ามาขัดขวางหรือไม่นั้น เราสามารถบริหารมันได้ เหมือนกับเรือใบที่เปราะบางแต่สามารถนำพาผู้คนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

สำหรับการพัฒนาตนเอง โดยการกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งนั้น ผมขอแนะนำขั้นตอนในการพัฒนาดังนี้
1. สำรวจค้นหาจุดอ่อนและจุดเด่น
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเองคือ การค้นหาตัวเองให้เจอว่าตัวเองมีจุดอ่อนและจุดเด่นตรงไหนบ้าง สำหรับวิธีการในการวิเคราะห์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การเปรียบเทียบเรื่องต่างๆ กับผู้อื่น เช่น การควบคุมอารมณ์ ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการสื่อสาร ระบบการคิด การอ่าน การเขียน การนำเสนอ รวมถึงวินัยในตนเองในด้านต่าง ๆ
การใช้ผู้อื่นเป็นกระจกเงา หมายถึง การให้ผู้อื่นวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดเด่นของเราว่าเป็นอย่างไร โดยให้กลุ่มบุคคลที่อยู่รอบตัวเราเป็นคนวิเคราะห์ เช่น พ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง เพราะจะทำให้เราสามารถมองเห็นตัวเองในทุกมิติ เพราะจุดอ่อนหรือจุดเด่นบางอย่างเราไม่ได้แสดงออกให้คนบางกลุ่มเห็น เช่น พ่อแม่อาจจะไม่ทราบว่าทักษะในการสื่อสารเราเป็นอย่างไร แต่พ่อแม่จะทราบดีเกี่ยวกับนิสัยลึกๆ ของเราซึ่งเพื่อนร่วมงานอาจจะไม่ทราบ
การใช้แบบทดสอบ เราสามารถทดสอบจุดอ่อนและจุดเด่นของเราได้จากแบบทดสอบประเภทต่างๆ เช่น แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อดูลักษณะนิสัย แบบทดสอบทางภาษา แบบทดสอบการคำนวณ ฯลฯ
การนำเอาปัญหาและความสำเร็จในชีวิตมาทบทวนเพื่อหาจุดอ่อนและจุดเด่น เช่น ทบทวนดูว่าเรื่องอะไรที่เรารับไม่ได้ เรื่องอะไรที่เราไม่ชอบมากที่สุด เรื่องอะไรที่เรายังแก้ปัญหาไม่ตก ในขณะเดียวกันก็ให้ทบทวนดูความสำเร็จที่เราได้รับเกิดจากอะไร เช่น การที่เรามีหน้าที่การงานที่สูงในปัจจุบันเพราะเราเรียนเก่ง หรือเพราะเราทำงานดี เพราะเราเข้ากับหัวหน้าได้ดี ฯลฯ
2. จัดลำดับความสำคัญ
เมื่อเราทราบจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเองแล้ว ให้ลองนำมาจัดลำดับดูว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องกำจัดหรือพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
ถ้าไม่กำจัดจุดอ่อนหรือเสริมจุดเด่นนั้นๆ จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายในชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด เช่น ถ้าเราไม่กำจัดจุดอ่อนเรื่องการควบคุมอารมณ์ เราคงไม่สามารถเติบโตขึ้นเป็นหัวหน้าได้ หรือ ถ้าเราไม่พัฒนาทักษะด้านภาษา เราคงไม่สามารถทำงานกับบริษัทต่างชาติตามที่เราหวังไว้ได้
ความถี่ในการเกิดขึ้นของจุดอ่อนหรือจุดเด่น จุดอ่อนใดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ หรือไม่รู้ตัวให้กำจัดออกไปก่อน เช่น เรามักจะลืมตัวพูดอะไรออกไปโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังอยู่เสมอทั้งๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจ สำหรับจุดเด่นที่เรามีและต้องใช้งานบ่อยๆ ก็ควรจะพัฒนาเพิ่มเติมให้ดียิ่งๆขึ้น
3. ลงมือกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่น
สิ่งสำคัญที่สุดในการกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่นคือ การลงมือปฏิบัติจริง ถ้ามีความยากลำบากในการแก้ไขและพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมกัน ขอแนะนำให้ทำทีละอย่าง เช่น ช่วงแรกอาจจะพัฒนาในเรื่องทัศนคติก่อน เมื่อทำได้สำเร็จแล้ว ค่อยๆ พัฒนาในเรื่องอื่นๆต่อไป จุดหักเหที่สำคัญในการลงมือปฏิบัติเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่ที่ "อย่าล้มเลิกความตั้งใจ" คนบางคนท้อ คนบางคนขาดความอดทนอดกลั้น พ่ายแพ้ภัยตัวเอง แน่นอนว่าการทำอะไรก็ตามย่อมมีปัญหาอุปสรรค แต่ขอให้คิดเสียว่าปัญหาอุปสรรคนั้นคือความท้าทาย พยายามหาแรงจูงใจเข้ามาเสริมทัพอยู่ตลอดเวลา เช่น บางคนได้แรงใจจากลูก บางคนได้แรงใจจากเป้าหมายในชีวิต บางคนได้แรงใจจากเพื่อน
การกำจัดจุดอ่อนเปรียบเสมือนคนกำลังเลิกบุหรี่ อาจจะทรมานบ้าง หงุดหงิดบ้าง แต่ถ้าผ่านไปได้ถึงขั้นเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนนิสัย โอกาสที่มันจะกลับมางอกเงยในชีวิตของเราก็น้อยลง แต่ถ้าเราได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ โอกาสที่นิสัยที่ไม่ดีจะกลับมาเติบโตอีกก็มีมากขึ้น ฉะนั้นต้องกำจัดแบบถอนรากถอนโคน
4. ประเมินผลและแก้ไขปรับปรุง
เมื่อเราได้กำจัดจุดอ่อนหรือเสริมจุดแข็งอะไรให้กับชีวิตแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องทำคือการประเมินผลดูว่าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะอะไรก็ตามที่เราสามารถวัดได้ ประเมินผลได้ เราสามารถจัดการกับมันได้ และการประเมินผลจะช่วยให้เราสามารถตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพิ่มขึ้นไปอีก ขอให้คิดว่าการกำจัดจุดอ่อนและการพัฒนาจุดเด่นของเราเป็นเกมส์อย่างหนึ่งที่เรากำลังเล่นอยู่กับตัวเอง จงสนุกและเพลิดเพลินกับมันมากกว่าที่เราคิดว่าเป็นภาระหน้าที่ที่หน้าเบื่อ
จากเทคนิคดังกล่าวจะเห็นว่าประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรามีจุดอ่อนหรือจุดเด่นอะไรหรือมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่อยู่ที่เราหาจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเองเจอหรือไม่ เรายอมรับมันหรือไม่ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นจุดอ่อน และเราได้ลงมือกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่นอย่างจริงจังหรือไม่
"ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นที่การชนะใจตนเอง"

1/7/08

วิสัยทัศน์ในสหัสวรรษใหม่

หลายต่อหลายครั้งที่สถาบัน องค์กร หรือผู้นำธุรกิจมักจะชอบนำ " อันดับความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศในโลก มานำเสนอหรือสรุปให้กับองค์การธุรกิจ หรือผู้บริหาร และผู้ที่สนใจให้ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากรายงานของ IMD ( The World Competitiveness ) ในปี 2000 ( จัดอันดับ ณ 19 เม.ย. 2000 ) ประเทศไทยอยู่อันดับ ที่ 33,39,29 และ 30 ตามลำดับ และถ้าหากพิจารณาอย่างเจาะลึกในแง่มุมที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องก็คือ ข้อคิดในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการจัดการและด้านคน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ประเทศและองค์กรธุรกิจแข่งขันในระดับโลกได้
ประเด็นที่อยากหยิบยกมาก็คือ ด้านการจัดการ โดยเฉพาะปัจจัยความเป็นเถ้าแก่ซึ่งถือว่าผลักดันให้เกิดกิจกรรรมทางเศรษฐกิจ และด้านคนในการเพิ่มทักษะกำลังคนเพื่อการแข่งขันของประเทศ
ดังนั้น ในตอนท้ายผู้เขียนจะกลับมาสรุปอีกทีว่า ทั้ง 2 ประเด็นนี้จะต้องปรับเปลี่ยนประเทศ องค์กร ธุรกิจ และผู้บริหารธุรกิจอย่างไร โดยอาศัยข้อเขียนบางส่วนของ Meenakshi Chellam เรื่อง Knowledge ใน ASIA 21 ( ฉบับ เดือนกันยายน 1999 ) หน้า 15-19 KBE คืออะไร
KBE เริ่มเป็นคำที่กล่าวถึงกันมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งย่อมาจากคำว่า Knowlege Based Economy หรือ เศรษฐกิจความรู้ หรือ เศรษฐกิจ K หากพิจารณาถึงการให้สัมภาษณ์ของปรมาจารย์ด้านการจัดการ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ในนิตยสาร Forbes ฉบับ พ.ค.2000 ได้ชี้ให้เห็นถึงสังคมแบบความรู้และโลกความรู้จะเข้าสู่รูปแบบการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เรียกว่า ความรู้ และโลกความรู้จะเข้าสู่รูป แบบความรู้และโลกความรู้จะเข้าสู่รูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะ เวบยูเคชั่น (Webucation) ซึ่งจะมีการสร้าง คลังความรู้ ( Knowledge Warehousing ) การเรียนรู้ทางเวบไซท์ ในลักษณะของการเรียนรู้ทางอิเลคทรอนิกส์ (e-Learning)
ความรู้ (Knowledge) คือ สารสนเทศที่ใส่เข้าไปในการผลิต โดยโมเดลของธุรกิจยุคใหม่จะมีปัจจัยที่สำคัญคือ ความรู้ สิ่งที่ธุรกิจและประเทศควรมุ่งความสนใจ ไม่ใช่เพียงสร้างความรู้แต่เป็นการจัดการความรู้ (Knowledge Managment)
ปัจจุบันนี้จะพบว่า เป็นโลกของ " สารสนเทศที่ปลายนิ้ว " ความรู้เป็นสากล ทุกคนจะมีความสามารถในการหาและได้รับความรู้ และ การแบ่งปันความรู้กลายเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง
เศรษฐกิจความรู้ (K-Economy) คือ การสร้างสิ่งที่เป็นพลังอำนาจด้วยการแบ่งปันความรู้ ประเทศและธุรกิจ จะทำได้ด้วยการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นระบบในการแบ่งปันความรู้ซึ่งจะทำให้กลายเป็นผู้นำโลก แต่ไม่ใช่ หมายถึง การท่วมท้นไปด้วยข้อมูล และทะลักไปด้วยคลื่นของสารสนเทศ
ความรู้ที่กองสูงกันอยู่จะไม่มีคุณค่าใดๆ เลย แต่กลายเป็นทีเก็บสารสนเทศมากกว่าจะกลายเป็น"แหล่งรวมของความรู้" สิงคโปร์พร้อมสู่ KBE
การที่ประเทศและธุรกิจของเรายังไม่สามารถก้าวขึ้นไปแข่งขันในระดับโลกได้โดยเฉพาะอันดับต้นๆ คงต้องดูประเทศที่ทำได้ และทำได้เป็นอย่างดี
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันอันดับ 2 ของโลกมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ปัจจุบันสิงคโปร์พร้อมสู่ KBE และคน ของสิงคโปรกำลังกลายเป็น "เถ้าแก่เทคโน" (Technopreneurship) มีการจัดการศึกษาของคนทำงานเพื่อให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า
กรรมการผู้อำนวยการ SNEF (สหพันธ์นายจ้างแห่งชาติของสิงคโปร์) กล่าวว่า เทคโนโลยีจะทำให้เราใช้ข้อมูลเพื่อแบ่งปันกันได้สูงสุด และเราจะตื่นเต้นมากกว่าอดีตเมื่อเราคุยกันเรื่อง การเร่งให้มีความรู้ในบริษัท การเข้าถึงเครือข่ายของคนเป็นร้อยล้าน เราก็จะสามารถโอนย้าย สารสนเทศไปยังคนเป็นร้อยล้าน ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือการฝึกคนเป็นร้อยล้านให้ดูดซับและย่อยสารสนเทศ ในสิงคโปร์เราจะไม่พูดว่า " เราไม่มีคอมพิวเตอร์ " แต่เรา สามารถเดินไปห้องสมุดแห่งชาติที่ใกล้ที่สุด หรือศูนย์ชุมชนท้องถิ่นและใช้ไอทีในภาษาที่เราถนัดและในสถานที่สะดวกสบาย
สิงคโปร์ปรับตัวได้สมบูรณ์ที่สุดในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้ก้าวกระโดดเข้าสู่โอกาสใหม่ได้ง่ายกว่าในการพัฒนาประเทศ สังคม ตะวันตกได้ทดลองและพยายามด้วยโมเดลที่หลากหลายและก็ล้มเหลวสิงคโปร์เรียนรู้จากผู้บุกเบิกและก้าวข้ามหัวไปเลย
องค์ประกอบสำคัญของ KBE คือ การเตรียมเข้าสู่อาชีพด้วย " นวัตกรรมและการคิดริเริ่ม " นวัตกรรมต้องเป็นสิ่งที่ " มุ่งสู่ " และโดยข้อเท็จจริงในทุกกรณีจะทำให้สิงคโปร์ไปเร็วกว่า และก็เร็วกว่า สิงคโปร์กำลังทบทวนประเด็นด้านภาษี กฎหมายล้มละลาย ลิขสิทธิ์ เพื่อพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะ ทำให้มีความง่ายในการเกิดนวัตกรรม
สิงคโปร์ปรับสู่สิ่งที่เป็นจุดแข็งพื้นฐาน คือ การศึกษา ซึ่งทุกคนจะต้องได้รับการเข้าถึง ถ้าทุกคนไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือทุกคน ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ สิงคโปร์จำเป็นต้องทำให้ทุกคนมี
ตลอดเวลาสิงคโปร์เตือนตนเองในทุกเย็นของแต่ละวันว่า " เราไม่ได้สร้างเศรษฐกิจดิจิตอล แต่เราสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน"
รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเปลี่ยนระบบการศึกษา โดยการตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อแบ่งปันและเผยแพร่ความรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สิงคโปร์กำลังกลายเป็นต้นแบบ KBE ของอาเซียน และคณะกรรมการคอมพิวเตอร์แห่งชาติเชื่อว่า นี่คือ " ทิศทางที่ถูกต้องที่สิงคโปร์กำลังมุ่งไปสู่ "
วิสัยทัศน์ในสหัสวรรษใหม่ หากประเทศไทยและธุรกิจ ต้องการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 และอยากมุ่งสู่ KBE ภาครัฐและภาคเอกชนคงต้องปรับเปลี่ยนอย่าง เร่งด่วนและเร็ว ยิ่งเร็วเท่าไรก็จะพร้อมมากเท่านั้น
ฉะนั้นการเพียงจะบอกว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่เท่าไรของโลกในเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน หรือบอกว่า มีจุดอ่อนอะไร ใครก็ยกมาพูดได้ แต่ที่สำคัญคือ " ทางออก " หรือ "วิสัยทัศน์" ที่ต้องชี้นำว่า อะไรคือสิ่งที่ประเทศและธุรกิจจะต้องทำ และ ทำอย่างไรในรูปแบบที่เป็น " รูปธรรม "
KBE จะเกิดขึ้นได้ด้วย " กลไกของนวัตกรรม " ที่จะผลักดันให้นำไปสู่เศรษฐกิจความรู้ อาทิ
.....นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สามารถใช้เพื่อปรับปรุงสิ่งเดิม ให้ค้นพบสิ่งใหม่
.....การคิดที่แตกต่าง การคิดนอกกรอบ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
.....คนรุ่นใหม่จะต้องไม่พูดว่า ต้องทำตามวิธีนี้ และจะพูดว่า ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ขอลองพยายาม
ดู นี่คือวิธีการที่จะได้คำตอบ
ทั้งหมดนี้จะทำให้ได้ซึ่งนวัตกรรม
สิ่งสำคัญของ KBE คือ เราสามารถสร้างบางสิ่งได้จากที่ไม่มีอะไรเลย มีความสามารถที่จะได้สารสนเทศ จัดการทำบางสิ่งกับสารสนเทศ และเปลี่ยนแปลงภายใต้เวลาที่มีอยู่ซึ่งจะทำให้เราได้รับนวัตกรรม
รูปแบบใหม่ของความเป็นเถ้าแก่ โรงเรียนบริหารธุรกิจของสหรัฐได้บรรจุทฤษฎีใหม่เหล่านี้ไว้ เรียบร้อยแล้วในรายวิชาการจัดการธุรกิจ
.....เทคโนโลยีเป็นสิ่งส่งเสริมและตัวเร่ง รวมถึงการแผ่ขยาย
.....เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องมี แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีปริญญาวิศวกรรม
.....เราต้องรู้วิธีใช้เทคโนโลยีของอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นนักนวัตกรรม หาธุรกิจใหม่ และเป็นเชื้อไฟที่ จุดการเติบโตของมัน
.....รู้ว่าอย่างไรเป็นการรู้วิธีทำให้มีเงินจากการใช้เทคโนโลยี
สิ่งสำคัญของ KBE เศรษฐกิจความรู้ คือ การสนับสนุนธุรกิจให้เจิดจ้าด้วยความรุ้ ไม่ใช่มุ่งแต่ สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเดียว
ผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ หากต้องการ KBE เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ จะต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด เปลี่ยนระบบการศึกษา ทำทุกสิ่งที่ต้องการอย่างไม่หยุดนิ่ง และมีวินัยที่จะฝีกฝน ปรับเปลี่ยนกำลังคน จิตใจ ที่มุ่งมั่นต่อการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ไอที ส่งเสริมพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ ความเป็นเถ้าแก่เทคโน ปรับปรุง กฎหมาย นอร์ม และยอมรับการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด นั่นคือทั้งหมดที่ประเทศ ธุรกิจ และชุมชนต้องการ ..................จาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ …..