มนุษย์คนหนึ่งๆ กว่าที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ล้วนต้องต่อสู้ดิ้นรน และฝ่าอุปสรรคขวากหนามมากมายทั้งนั้น
ชีวิตของคนหนึ่งๆ จึงมีหลากรส หลายอารมณ์ และนานาประสบการณ์ ในแต่ละช่วงของจังหวะชีวิต!
ภาษิตกะเหรี่ยง บอกว่า “ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยา (ชู) กำลัง” คือต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน ขวนขวาย อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ จึงจะสามารถกำชัยได้!
วันนี้…ผู้เขียนจะพาท่านไปดูแนวคิดและวิธีการ ‘จัดพอร์ตธุรกิจ’…ว่าเขาทำกันอย่างไร (หนอ) จึงรวยเอาๆ !
สำหรับเนื้อหาใน 2 ตอนแรก (จัดพอร์ตการศึกษา (ตอน 1) และพอร์ตครอบครัว (ตอน 2))…ขอได้โปรด click ไปดูได้ที่ website www.tax-thai.com เช่นเดิมนะครับ!
4. จัดพอร์ตธุรกิจ…เพื่อพิชิตความรวย
‘เงินทอง’ กับ ‘ความรวย’ ดูจะเป็นสิ่งแสวงหาของคนส่วนใหญ่ในสังคมโลก (ทุนนิยม-capitalism) ทุกวันนี้! จึงเป็นผลให้ทุกองคาพยพของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ล้วนมุ่งพุ่งเป้าไปวัดความสำเร็จกันที่ ‘ความมั่งคั่ง’ (GDP) โดยมองข้ามมิติของ ‘ความสุข’ (happiness) และ ‘จริยธรรม’ (merit) โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับรองๆ กว่า ‘เงินทอง’!
ดังนั้น…เพื่อสนองทิศทางของกระแสสังคม จึงขอพาท่านผู้อ่านล้วงลึกเข้าไปเจาะกระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อหาช่องทาง/รูปแบบ/วิธีการ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยจากธุรกิจการค้า กันดีกว่า!
(1) เถ้าแก่ใหม่…ควรเริ่มต้นทำการค้า (ธุรกิจ) อย่างไร? .
ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น (kick off) โดยแต่ละคนมีความพร้อมแตกต่างกันไป
ถามว่า ผู้ที่จะทำธุรกิจต้องมีคุณสมบัติอย่างไร (บ้าง) จึงจะไม่ตกม้าตาย (ตอนจบ)
(1.1) ต้องรู้จักธุรกิจ (ที่จะทำ) เป็นอย่างดี .
ประเภทที่ลองผิด ลองถูก หรือหลับหูหลับตาทำๆ ไปก่อน ทำนองไปตายเอาดาบหน้านั้น มีโอกาสฟลุ้คหลุดรอดมารวยน้อยมาก…เท่าที่เห็น (และอ่านประวัติ) ก็คงมีแต่เสี่ยตัน ภาสกรนที ที่ประหนึ่งแมวเก้าชีวิต คือล้มๆ ลุกๆ แล้วมาสะดุดความรวย (จริงๆ) ก็เมื่อตอนขายหุ้น Oishi ได้ 3,000 ล้านบาทนี่เอง
‘เสี่ยตัน’ เล่าว่า ตนทำธุรกิจมาแล้วสารพัด ทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร ร้านหนังสือ ร้านถ่ายรูป wedding studio จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จสูงสุดตรงชาเขียว Oishi โดยสังเกตจากลูกค้าว่านิยมสั่งชาเขียว ในสัดส่วนที่สูงกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ทั้งๆ ที่ราคาชาเขียวสูงกว่า…จึงถือเป็นการทำวิจัยตลาดภาคปฏิบัติ (marketing research) ไปในตัว
ปรัชญาการทำธุรกิจของ ‘เสี่ยตัน’ ก็คือ ต้องกระจายทำธุรกิจมากชนิดเข้าไว้ โดยขอให้ ‘โดน’ (เต็มๆ ใบ) สัก 1-2 กิจการก็คุ้ม และรวย (มากๆ) ได้แน่นอน!
(1.2) ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง .
วิสัยทัศน์ (vision) แม้เป็นคำนามธรรม แต่สำคัญที่สุดของผู้ที่จะเป็นสุดยอดนักธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
- คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ (CEO แห่ง ซี.พี.กรุ๊ป) ซึ่งต้องถือเป็นสุดยอดของนักธุรกิจและนักบริหารของยุคนี้…ท่านเคยกล่าวปาฐกถาแสดงวิชั่นด้วยความคมคายมากมาย ซึ่งถ้าเรารู้จักนำเอาคำแนะนำของท่านไปใช้ ย่อมเป็นการร่นระยะเวลาแห่งการลองผิดลองถูกไปร่วมสิบๆ ปี อาทิ
- นโยบายเกษตร และปศุสัตว์ครบวงจรของซี.พี. ทำให้กิจการกลายเป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกษตร/ปศุสัตว์ ยักษ์ใหญ่ของเอเชียในปัจจุบัน
- ผลไม้ไทย 3 ชนิด คือ ทุเรียน ส้มโอ และมังคุด เป็นสุดยอดสินค้าที่ตลาดต่างประเทศต้องการ เพราะมีรสชาติดีเด่นกว่าใคร เนื่องจากชัยภูมิและลมฟ้าอากาศบ้านเราเหมาะสมยิ่ง
- ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในอนาคต จะมีส่วนผลิกผันวิถีธุรกิจต่างๆ โดยพนักงานอาจไม่ต้องเดินทางมาทำงาน เป็นต้น
- ต้องส่งเสริมคนเก่ง (หนุ่มสาว) ให้ก้าวหน้าเร็วๆ เพื่อ keep คนเหล่านี้ไว้ในองค์กร และต้องกล้าเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความเห็นและฝีมือเต็มที่ ทั้งที่บางครั้งรู้ถึงผลลัพธ์ว่ามาผิดทาง ก็จำต้องยอมหลับตาข้างหนึ่งลง เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ และแข็งแกร่งขึ้น!
(1.3) ต้องมีความพร้อม (ทุกด้าน) .
ถ้าถึงพร้อมครบเครื่องทั้ง 4 M (man (ทีมงาน), money (เงินทุน), machine (เครื่องมือต่างๆ) และ management (ความสามารถในการบริการจัดการ)) ตามทฤษฎีบริหารธุรกิจ ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้สูงยิ่ง!
ในบรรดา 4 M นี้ ความยากจะอยู่ที่ 2 M แรก คือ เรื่องของบุคลากร และทีมงาน หากเถ้าแก่ท่านใดได้ ‘ยอดขุนพล’ และทีมงานที่ดี/ซื่อสัตย์/ขยัน/ศักยภาพสูง ก็ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง เช่น Shin Corp ได้คุณบุญคลี ปลั่งศิริ, Modern Nine TV ได้คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นต้น
ส่วนเรื่องเงินทุน ก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของนักธุรกิจ SME ทั้งหลาย แม้รัฐจะใช้มาตรการภาษีสนับสนุนให้เกิด Venture Capital (คือผู้ที่มีเงินทุนหนา และต้องการเข้าถือหุ้น/ร่วมทุนกับเจ้าของ OTOP) โดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผล และกำไรจากการขายหุ้น (capital gain) ของ VC (พ.ร.ฎ.#396)…แต่ VC บ้านเราก็ยังไม่บูมเหมือนต้นตำรับในประเทศตะวันตกทั้งหลาย!
(1.4) ต้องมีโชค และมีสติ .
เรื่องของโชควาสนา ถือเป็นลิขิตสวรรค์ จึงเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล (ห้ามลอกเลียนแบบ) เช่น ทักษิณ ชินวัตร (ร่ำรวยจากธุรกิจโทรคมนาคมที่บูมอย่างรวดเร็วเกินคาดหมาย), โรตีบอย (เพิ่งเปิดร้านไม่กี่เดือน ปรากฏมีผู้สนใจขอซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อนี้เป็นเงินถึง 50 ล้านบาท), ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว (นี่ก็จ๊าบเจ๋งด้วยการขยายตัวด้วยการขาย แฟรนไชส์รถเข็นไปทั่วบ้านทั่วเมือง) ฯลฯ
คำว่ามีสติ หมายถึง ต้องรู้เขา (คู่แข่ง/สถานการณ์) และรู้เรา (คือประเมินกำลังความสามารถของตนเองได้)…ดังคำสอนคนจีนว่า มิให้ลงทุนเกินตัว หรือเป็นหนี้เป็นสิน (กู้เงินมากๆ มาทำการค้า) เพราะถ้าพลาดพลั้งก็หมดตัวและหมดโอกาสฟื้น!
(2) เมื่อลูกเจ้าสัว…เข้ารับช่วงธุรกิจของตระกูล .
‘ลูกเจ้าสัว’ มักเป็นผู้มีการศึกษาสูงกว่าคนรุ่นพ่อ ซึ่งดั้งเดิมเติบโตจาก “เสื่อผืน หมอนใบ” จนกลายเป็น เถ้าแก่/เจ้าสัว ได้ด้วยการอาบเหงื่อต่างน้ำ และวิริยะอุตสาหะโดยแท้
ฐานรากธุรกิจที่เจ้าสัววางไว้แก่บุตรหลาน โดยค่อยๆ พร่ำสอนหมากกลการค้าแบบซึมซับตามธรรมชาติ โดยอาศัยความใกล้ชิดอบอุ่นในครอบครัว ทำให้บุตรหลานได้พบ/ได้เห็น/ได้ยิน/ได้สัมผัส ผ่านทางสายตาและโต๊ะกินข้าว (ร่วมกันทุกวัน)…ประกอบกับ ‘เจ้าสัวน้อย’ มีโอกาสร่ำเรียนถึงขั้นปริญญาตรี/โท/เอก หรือจบจากเมืองนอกเมืองนา ทำให้วิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความรู้กว่าคนรุ่นเก่า อีกทั้งสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตรงกับธุรกิจของครอบครัว เช่น กิจการก่อสร้าง (เรียนสถาปัตย์, วิศวกรรม) ธุรกิจโรงแรม (เรียนบริหาร/บัญชี/การโรงแรม) ธุรกิจอุตสาหกรรม (เรียน MBA, วิศวกรรม) เป็นต้น
มองเผินๆ…ก็เสมือนว่า ‘ลูกเจ้าสัว’ จะต่อยอดธุรกิจได้ง่ายและ (ควรจะ) ได้ดีกว่าคนรุ่นพ่อ แต่ก็มิได้เป็นสัจธรรมเสมอไป หากขาดซึ่งคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(2.1) เจ้าสัวน้อย ต้องมีศิลปะการครองใจคน .เพราะในองค์กรจะมีบุคลากร 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้อาวุโสดั้งเดิม (ความรู้น้อย แต่ชำนาญงาน และมักดื้อรั้น) กับคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ดีกรีการศึกษาสูง ซึ่งทำงานด้วยหลักวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่…ดังนั้น CEO (เจ้าสัวน้อย) ต้องสามารถประสานความแตกต่างให้เป็นพลังหนึ่งเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ได้ตามเป้าหมาย
(2.2) เจ้าสัวน้อย ต้องทันกลเกมการค้าและธุรกิจ เพราะโลกการค้าและสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน มีความแตกต่างจากเดิมมากมาย และกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากนี้ ย่อมเป็นทั้งวิกฤติและโอกาส โดยเฉพาะกระแสการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement (FTA)) ซึ่งรัฐบาลไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ โดยเร่งขยายและลงนาม FTA อีกหลายฉบับนั้น แน่นอนว่าย่อมเกิดคู่แข่งจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาค้าแข่งกับเรา โดยไม่มีกำแพงภาษี (tariff barrier) คอยปกป้องธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่อ่อนแออีกต่อไป โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ซึ่งทั้งถูก (มากๆ) และคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่…ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าและบริการของไทยเราสามารถขยายลู่ทาง การค้าไปยังตลาดโลกได้กว้างขวางและง่ายขึ้นโดยปราศจากภาษีศุลกากรเช่นกัน…จะคงเหลือก็แต่อุปสรรคจากการกีดกันทางการค้าในรูปอื่น (non-tariff barrier) ซึ่งเราต้องทันเกมและแก้ปัญหาผ่านสมาคมการค้า หรือกระทรวงพาณิชย์ของไทย
(2.3) เจ้าสัวน้อย ต้องเป็นทั้งนักการทูตและนักบริหารมือหนึ่ง .
หากจะทำงานใหญ่ต้องเป็นนักเจรจา และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา เช่น ผู้บริหารกลุ่มซี.พี. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำของจีน ทำให้การขยายธุรกิจและการลงทุนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว…เพราะการชิงปักธงได้ก่อน ย่อมได้เปรียบกว่าคู่แข่งหลายช่วงตัว
นอกจากนั้น เจ้าสัวน้อยจะต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ (vision) กว้างไกล และมองโอกาสทางธุรกิจเป็น และสามารถไขว่คว้ามาได้ โดยสามารถวางแผนทางธุรกิจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย เช่น การเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในจีน โดยร่วมทุนกับรัฐบาลจีน หรือตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น Ningbo Fee Trade Zone ซึ่งลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือเพียง 15% เป็นต้น
(3) ที่สุดของธุรกิจ : ค้าขาย…ฤาจะสู้ค้าหุ้น .
สุดยอดของการบริหารธุรกิจก็คือ ต้องมองข้ามชอตไปถึงผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับให้สูงที่สุด ซึ่งผู้เขียนขอใช้คำว่า maximize net take home money ของผู้ถือหุ้น!
ตัวอย่างเช่น กรณีของ ฯพณฯ นายกทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้เงินจากการขายหุ้น Shin Corp สุทธิแล้วถึง 73,000 ล้านบาท โดยปราศจากภาษีใดๆ
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ กรณีของเสี่ยตัน ภาสกรนที ซึ่งนำบริษัท Oishi เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET) เพื่อระดมเงินมาขยายโรงงานผลิตเครื่องดื่มชาเขียว โดยเพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดเพียง 1 ปี…แต่คุณตัน สามารถขายหุ้นบางส่วนของตนให้แก่คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นเงินถึง 3,000 ล้านบาท โดยปราศจากภาษี (เช่นกัน)…กรณีนี้ถือเป็นการเข้า take over (แบบ share acquisition) ซึ่งสร้างความแข็งแกร่งแก่ทั้ง 2 กิจการในลักษณะ win-win โดย Oishi กรุ๊ป สามารถขยายช่องทางตลาดผ่านเครือข่าย ‘เบียร์ช้าง’ ส่วนกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ (เบียร์ช้าง) ก็เพิ่ม product line ขึ้นมาอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยไม่ต้องออกแรงสร้างและเสี่ยงแต่อย่างใด! จำได้ว่าสมัยเรียน MBA ที่ NIDA…คณาจารย์ได้เน้นย้ำเสมอถึงจรรยาบรรณทางธุรกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility)…จึงขอส่งไม้ผ่านถึงเถ้าแก่/เจ้าสัว/และเจ้าสัวน้อยทั้งหลายว่า “เมื่อรวยแล้ว…ต้องไม่เอาเปรียบสังคม และต้องช่วยเหลือสังคมให้มากๆ เพราะผลบุญจะส่งให้ท่านรวย (เงินและความสุข) อย่างอมตะนิรันดร์กาลเลยเชียว!”
No comments:
Post a Comment