มีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เงินอยู่ในอากาศ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นแล้วคว้าลงมาได้” ผมเชื่อว่าผู้อ่านก็คงเคยได้ยินได้อ่านสุภาษิตแนวๆ นี้ แต่อ่านแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะคว้าเงินลงมาจากอากาศได้อย่างไร
ถ้าอ่านประวัตินักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งของไทยและของต่างประเทศ หลายๆ ท่านจะพบว่าความร่ำรวยของเขามีจุดเริ่มต้นมาจากศูนย์ ด้วยสมองและสองมือทำให้หลายคนสามารถคว้าเงินจากอากาศมาเข้ากระเป๋าตัวเองได้
ผมได้มีโอกาสสนทนากับทายาทเจ้าสัวที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของไทย ยิ่งคุยด้วยยิ่งรู้สึกว่าผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า วิธีคิดของเจ้าสัวในการคว้าเงินจากอากาศทำได้อย่างไร แล้วทำไมคนธรรมดาอย่างเราที่ทำงานหนัก ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบในการทำงาน ถึงได้หาเงินได้แค่พอเลี้ยงชีพหรือสร้างความมั่นคงในชีวิตได้แต่ไม่ยักกะรวยอย่างเขาเสียที
ทายาทเจ้าสัวท่านนี้เล่านิทานเรื่องหนึ่งในผมฟังในการสัมมนาภายในบริษัทของเขา
เรื่องมีอยู่ว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองแห่งหนึ่ง ทั้งเมืองมีบ่อน้ำอยู่เพียงบ่อเดียวที่คนทั้งเมืองต้องมาตักน้ำจากบ่อไปดื่มและใช้ ยิ่งเมืองเติบโตขึ้น มีคนมากขึ้น ความวุ่นวายจากการแย่งกันมาตักน้ำในบ่อของชาวเมืองก็ยิ่งมากขึ้น จนเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันไม่เว้นแต่ละวัน เพื่อลดความวุ่นวายและหารายได้เข้าเมือง จึงประกาศยกสัมปทานการใช้น้ำให้กับพ่อค้า 2 รายในเมือง โดยให้พ่อค้า 2 รายนี้เท่านั้นมีสิทธิตักน้ำจากบ่อนี้ไปขายให้คนในเมือง พอได้สัมปทานบ่อน้ำ พ่อค้าคนที่หนึ่งก็เดินทางออกจากเมืองหายไปหลายเดือน
ขณะที่พ่อค้าคนที่สองก็มีความสุขกับสัมปทานบ่อน้ำที่ได้รับ โดยขยันขันแข็งตื่นแต่เช้าทุกวันไปขนน้ำใส่รถเข็นมาบริการชาวเมืองในราคาที่เป็นธรรม ด้วยความรับผิดชอบเป็นอย่างสูงและมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อให้ชาวเมืองทุกคนได้รับน้ำอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะร้อนก็ออกไปขนน้ำมาให้บริการชาวเมือง โดยไม่ได้สนใจพ่อค้าคนที่หนึ่งที่หายสาบสูญไป
เวลาผ่านไป 6 เดือน พ่อค้าคนที่หนึ่งก็เดินทางกลับเข้ามาในเมืองพร้อมกับทีมงานและเครื่องไม้เครื่องมือ แล้วก็ลงมือเดินท่อน้ำจากบ่อน้ำเข้าไปที่บ้านของประชาชนทุกๆ คนในเมือง โดยคิดค่าน้ำในราคาในราคาที่ต่ำกว่าพ่อค้าคนที่สอง การที่ลูกค้าได้รับน้ำทุกๆ ครั้งที่เปิดก๊อก ทำให้ลูกค้าสะดวกขึ้น โดยที่จ่ายค่าน้ำลดลง ประชาชนเกือบทั้งเมืองจึงหันมาเป็นลูกค้าของพ่อค้าคนที่หนึ่ง เหลือเพียงญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทของพ่อค้าคนที่สองกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่ยังอุดหนุนกันอยู่เพราะความเกรงใจ
เวลาผ่านไปหลายปี พ่อค้าคนที่หนึ่งก็ร่ำรวยขึ้นอย่างมากและใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่ต้องตรากตรำทำงานหนักและยกธุรกิจให้ทายาทบริหารงานต่อไป ขณะที่พ่อค้าคนที่สองก็ยังคงทำงานอย่างขยันขันแข็งและมีความรับผิดชอบ ออกไปเข็นน้ำมาให้บริการลูกค้าที่มีอยู่ในมืองอย่างไม่ย่อท้อ โดยมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น พ่อค้าคนที่สองเริ่มตักน้ำไม่ค่อยไหว จึงประกาศจะยกธุรกิจของตนให้ลูกชายสืบทอดต่อ พอลูกชายรับทราบก็ถอนใจเก็บข้าวของเดินทางออกจากเมืองไปแล้วไม่ยอมกลับมาอีกเลย”
ทายาทเจ้าสัวสรุปให้ฟังว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ความขยันขันแข็ง อดทน ซื่อสัตย์และรับผิดชอบ เป็นคุณสมบัติที่ดีของการทำธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความฉลาดและวางแผนไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ มีความพร้อมเรื่อง Know How เทคโนโลยีและเงินทุนจากภายนอก เข้ามาสนับสนุน จึงจะทำธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดยที่เจ้าของธุรกิจไม่ต้องเหนื่อยทำงานแบบเดิมๆ ทุกวัน ต้องปล่อยให้ระบบของธุรกิจดำเนินต่อไปได้เอง สร้างรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้เวลาเข้าไปดูแลมากนัก จะได้เอาเวลาไปคิดเพื่อปรับปรุงและขยายธุรกิจด้านอื่นๆ ต่อไป ไม่ต้องมาเหนื่อยกับการทำงานแบบเดิมๆ ไปชั่วชีวิต”
ฟังบทสรุปแล้วรู้ซึ้งเลยครับว่า คิดแบบเจ้าสัวเขาคิดอย่างไร มิน่าละเขาถึงร่ำรวยเพราะเขามีธุรกิจหลายๆ ธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินเข้ามาอย่างเป็นระบบ เมื่อธุรกิจหนึ่งดำเนินไปได้ เขาก็ขยายธุรกิจไปสู่พื้นที่ใหม่หรือธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เขาถึงได้มีเครื่องผลิตเงินหลายๆ เครื่อง ขณะที่พวกเราส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) เป็นพ่อค้าคนที่สอง ที่ต้องออกไปตักน้ำมาขายลูกค้าทุกวันๆ วันไหนป่วย หยุดตักก็ไม่ได้เงิน
ตอนนี้รู้วิธีการสร้างเงินจากอากาศของเจ้าสัวแล้ว แต่ว่าเราจะไปหาสัมปทานบ่อน้ำที่ไหนดีละครับ
จาก BangkokBizWeek
No comments:
Post a Comment